วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

มาตรา การวัด ( Measurement Scales )

ข้อมูลต่าง ๆ จะใช้วิธีการทางสถิติแบบใดในการวิเคราะห์นั้น ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนว่า ข้อมูลมี่เราสนใจศึกษานั้นอยู่ในมาตราวัดระดับไหน มาตราวัดบางระดับจะไม่สามารถนำข้อมูลที่เป็นตัวเลขมาทำการคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้ ในขณะที่บางมาตราวัดสามารถจัดระดับได้ แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดของความแตกต่างของข้อมูลได้ เราสามารถจำแนกมาตรา การวัดข้อมูลออกได้เป็น 4 มาตรา คือ

1 มาตรานามบัญญัติ ( Nominal Scales ) เป็นมาตรา การที่ใช้กับข้อมูลที่มีลักษณะหยาบหรือต่ำที่สุด เป็นการกำหนดสัญลักษณ์หรือตัวเลขเพื่อจำแนกประเภทสิ่งของหรือคุณลักษณะต่างๆ เท่านั้น ไม่สามารถแสดงให้เห็นปริมาณมากน้อยหรือสูงต่ำแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่สามารถนำตัวเลขเหล่านั้นมาบวก ลบ คูณ หาร ได้ เช่น เพศ ที่แบ่งออกได้เป็นแค่ 2 ประเภท เท่านั้น คือ ชายและหญิง โดยให้ 1 เป็นสัญลักษณ์แทนเพศชาย และ 2 เป็นสัญลักษณ์แทนเพศหญิง เท่านั้น ไม่สามารถนำสัญลักษณ์ที่เป็นตัวเลข 1 กับ 2 มาบวก ลบ คูณ หรือหารได้แต่อย่างใด หรือไม่สามารถสรุปได้ว่า 2 มากกว่า 1 เป็นต้น
2 มาตราอันดับ ( Ordinal Scale ) เป็นมาตรา การวัดที่มีความละเอียดการวัดเพิ่มขึ้น หรือสูงกว่ามาตรานามบัญญัติ เพราะสามารถบอกลำดับและความแตกต่างแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าคุณลักษณะหรือคุณสมบัติเหล่านี้มีปริมาณมากน้อยกว่ากันเท่าใด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้อมูลในระดับนี้ไม่สามารถนำมาคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้เช่นเดียวกับมาตรานามบัญญัติ เช่น การประกวดนางสาวไทย เราได้อันดับที่ 1 คือ นางสาวไทย, อันดับ 2 คือ รองนางสาวไทยคนที่ 1 และอันดับ 3 คือ รองนางสาวไทยคนที่ 2 เช่นนี้เรารู้ถึงอันดับและความแตกต่างของความสวยของนางสาวไทยทั้ง 3 คน เราไม่สามารถจัดจำแนกได้ว่า อันดับ 1 สวยมากว่าอันดับ 2 เท่าใด เป็นต้น
3 มาตราช่วง ( Interval Scale ) ในระดับเราสามารถทราบได้ว่าสิ่งที่จะวัดมีช่วงห่างกันมากน้อยเท่าใด โดยแต่ละช่วงมาตรานี้มีค่าเท่าๆ กัน ทำให้เราทราบถึงความแตกต่างที่ห่างกันเป็นช่วงได้ และค่าที่ได้จากการวัดสามารถนำมาคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้ เช่น เราจะบอกความแตกต่างของน้ำร้อนระหว่าง 60o C กับ 80o C เท่ากับความแตกต่างระหว่าง 100o C กับ 120o C โดยดูจากช่วงที่ห่างกันเท่ากับ 20o C แต่อย่างไรก็ตามยังมาสามารถบอกได้ว่า ที่อุณหภูมิ 120o C มีความร้อนเป็น 2 เท่าของอุณหภูมิ 60o C ทั้งๆ ที่ 120 มีค่าเป็น 2 เท่าของ 60 ทั้งนี้เพราะว่าที่ 0o C ไม่ได้แปลว่าไม่มีความร้อนเลยหรือเราไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่สอบได้คะแนน 100 คะแนนเต็มมีความรู้เป็นสองเท่ามากกว่าคนที่สอบได้คะแนน 50 เพราะคนที่สอบได้ 0 คะแนนไม่ได้แปลว่าไม่มีความรู้เลย ทั้งนี้เนื่องจากในมาตรา การวัดระดับนี้จะไม่มีศูนย์แท้นั่นเอง
4 มาตราอัตราส่วน ( Ratio Scale ) เป็นมาตราวัดที่ดีที่สุด และวัดได้อย่างละเอียดที่สุด ตัวเลขที่วัดได้สามารถสื่อความหมายตรงตามค่าของสิ่งที่วัด และเป็นมาตราวัดที่ข้อมูลมีค่าเป็นศูนย์แท้ คือถ้าค่าตัวเลขที่วัดได้มีค่าเป็นศูนย์ ก็แปลว่าสิ่งที่วัดนั้นมีค่าเป็นศูนย์ด้วย ข้อมูลที่อยู่ในมาตราวัดระดับนี้ได้แก่ เวลา อายุ น้ำหนัก ความสูง ระยะทาง เป็นต้น ข้อมูลที่วัดได้สามารถนำมาทำการคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้ ตัวอย่างเช่น คนที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ย่อมแปลว่ามีน้ำหนักมากกว่า หรือหนักเป็นสองเท่าของคนที่มีน้ำหนักเพียง 30 กิโลกรัม ทั้งนี้เพราะว่าถ้าคนที่ไม่มีน้ำหนักเลยจะเท่ากับศูนย์ หรือระยะทางของถนนที่ยาว 20 เมตร ย่อมยาวเป็น 4 เท่าของถนนที่มีระยะทางยาวเพียง 5 เมตร เป็นต้น


ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://reg.ksu.ac.th/Teacher/kanlaya/1.4.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น